วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2550

การสร้างบล็อกให้เป็นอย่างมืออาชีพ

1. ใส่ใจกับรูปแบบดีไซน์ของ blog ลองสังเกตดูง่าย ๆ ครับ สำหรับบล็อกชั้นนำของโลก ต่างก็ไม่ได้ใช้ template แจกฟรีที่มีกันทั่วไป แต่บล็อกชั้นนำเหล่านี้ ต่างก็ออกแบบดีไซน์ของบล็อกขึ้นมาเองทั้งหมด ทำให้บล็อกนั้นดูมีความแตกต่าง และมีความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น
2. ใส่ใจกับเนื้อหาของบล็อก ก่อนที่คุณจะสร้างบล็อกขึ้นมาซักแห่งหนึ่ง ลองวางแนวทางของเนื้อหาในบล็อกดูก่อนครับ ว่าเราต้องการจะนำเสนอบทความรูปแบบไหน เราจะมีวิธีนำเสนอไปในทางใด สิ่งเหล่านี้ จะทำให้คุณไม่หลุดประเด็น จากที่คุณตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกไงครับ เช่น บล็อกของ keng.com ต้องการจะเป็น บล็อกที่นำเสนอข้อมูลด้านการทำบล็อก ดังนั้นผมวางแนวทางไว้ว่า ต้องมีข่าวสารวงการบล็อกทั่วโลก มาให้ผู้อ่านได้อ่านกัน และยังต้องมีเทคนิคการทำบล็อกสำหรับมือใหม่ เช่นบทความเรื่อง “blog คืออะไร?” และมีเทคนิคสำหรับขั้นผู้เชี่ยวชาญ เช่นการใส่ Tag หรือการ Ping ไปยัง blog search engine เป็นต้น ตัวอย่างข้างต้น ดังเช่นตัวอย่างบทความ ที่ผมเขียนขึ้นมาเหล่านี้ เป็นแนวทาง ในการกำหนดทิศทางของบล็อกครับ
3. ใส่ใจผู้อ่าน มากกว่าใส่ใจตัวเอง เนื้อหาของบล็อกเป็นสิ่งที่ผุ้อ่านใส่ใจใคร่รู้ ไม่ใช่ป้ายโฆษณาที่เราวางระเกะระกะในเว็บไซต์แต่อย่างใด ดังนั้นการจัดรูปแบบโฆษณา ต้องคำนึงถึงจิตใจผู้อ่านด้วยนะครับ ว่าถ้าเป็นเราเอง ไปอ่านบล็อกคนอื่น แล้วมีโฆษณามาเกะกะในตัวบทความ เราชอบหรือไม่ โดยทั่วไปแล้ว ถ้าบทความของเราเขียนได้ดี ผู้อ่านก็จะมาอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก และอาจมีผู้อ่านมากขึ้นทุก ๆ วัน หลังจากนั้นแล้ว รายได้จากค่าโฆษณาจะตามมาเอง โดยที่เราไม่ต้องไปใส่โฆษณา แทรกลงไปในตัวบทความอีกด้วย
4. ใส่ใจ comment ที่มีเข้ามา บล็อกสามารถใช้ประโยชน์ของการสื่อสาร ได้ด้วยระบบ comment ในตัวเอง ซึ่งโปรแกรมสร้างบล็อก (ฺBlogware) ส่วนใหญ่ มีระบบ comment ติดมาให้ด้วยอยู่แล้ว ลองใช้ระบบนี้ให้เกิดประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน comment การตอบ comment ต่าง ๆ บางครั้งเราอาจได้ประโยชน์จากการดึงประเด็นเด็ด ๆ จาก comment มาใช้เขียนบทความก็เป็นได้ ดังนั้น ทุก ๆ วันคุณควรที่จะตรวจสอบว่ามี comment ใดเข้ามาบ้าง เพื่อที่จะได้ตอบได้ทันท่วงที เมื่อเราตอบได้เร็ว ผู้อ่านมีอารมณ์ร่วมในการสื่อสาร ทั้งสองฝ่ายก็แฮปปี้ครับ และจุดสำคัญอีกอย่างหนึ่งถ้าเราตรวจสอบ comment ทุกวันก็คือ เราสามารถลบพวก spam comment ออกได้อย่างทันควันไงครับ
5. ใส่ใจในมาตรฐานของเว็บไซต์ ไม่มีใครรู้ว่าบล็อกของเราจะมีคนเข้ามาอ่านมากแค่ไหน บางครั้งเราอาจต้องมีการปรับปรุงเว็บไซต์ หรือบางครั้งเราอาจต้องมีการปรับแต่งดีไซน์ เพื่อรองรับการขยายตัวอย่างที่เราไม่คาดฝัน ลองมองไปถึงการดีไซน์บล็อกด้วย มาตรฐานของเว็บไซต์ (Web Standard) ซึ่งจะสามารถทำให้บล็อกของคุณ แสดงผลได้ดีในทุก ๆ browser และลองพยายามใช้ css ในทุก ๆ ส่วนที่คุณทำได้ เพราะตัว css นี้มีความยืดหยุ่นสูง ถ้าเราต้องมีการเปลี่ยนแปลงดีไซน์ต่าง ๆ เราจะได้ปรับเฉพาะแค่ไฟล์ css แทนที่จะไปแก้ html ในแต่ละหน้า ลองนึกดูครับว่า ถ้าวันใดที่คุณมีบทความประมาณ 1,000 บทความ แต่คุณต้องมานั่งแก้สีของกรอบรูปภาพ ที่คุณเคยเขียนโค๊ดใส่ border เข้าไปที่โค๊ดของรูปภาพโดยตรง แทนที่จะแก้ไขที่ไฟล์ css แค่บรรทัดเดียว
6. จัดตารางเวลาในการเขียนให้เหมาะสม เมื่อตอนเริ่มเขียนบล็อก คุณอาจใช้เวลาไม่มากนักในการเขียนบทความ แต่เมื่อคุณเขียนมากขึ้นเรื่อย ๆ จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี แน่นอนว่าคงต้องมีการกระทบกับเวลาการทำงานอื่น ๆ ของคุณเช่นกัน ดังนั้นลองจัดสรรเวลาสำหรับเขียนบล็อก อาจจะตื่นเช้าสักหน่อย ใช้เวลาในช่วงเช้าก่อนไปทำงาน เขียนบทความสักหนึ่งตอน หรือจะเขียนบทความในช่วงดึก ๆ ก่อนนอนก็ได้ ตรงนี้แล้วแต่คนนะครับ ว่าคุณสะดวกแบบไหน หรือมีเวลาว่างในตอนอื่น ๆ ลองปรับให้เหมาะสมกับตัวเองดูครับ7. ใส่ใจเรื่องขนาดของภาพประกอบบทความ

ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่งฉันท์ใด บล็อกย่อมงามเพราะดีไซน์และภาพประกอบ (มั่วจริง ๆ เลยผม) ลองทำความรู้จักกับรูปแบบของไฟล์ภาพชนิดต่าง ๆ ดูนะครับ เช่นไฟล์ที่มีนามสกุลเป็น .gif นั้น สามารถแสดงผลได้สูงสุด 256 สี แต่ไฟล์ภาพที่เป็นนามสกุล .jpg นั้นสามารถแสดงผลได้สูงสุด 16 ล้านสี ดังนั้นการเลือกที่จะเซฟภาพเป็นไฟล์นามสกุลอะไรนั้น เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เพราะหากเลือกชนิดไฟล์ผิด ภาพที่ออกมาจะไม่สวย และไฟล์อาจมีขนาดใหญ่ผิดปกติ นั่นจะเป็นสิ่งที่กินทรัพยากรของระบบ และบล็อกของคุณมากขึ้นไปอีก เพราะถ้ามีผู้อ่านเยอะ แต่ต้องรอโหลดภาพที่ใหญ่ผิดปกติ ผู้อ่านบางท่านอาจจะเลิกรอเลยครับ ผมขอแนะนำวิธีง่าย ๆ ในการเซฟภาพดังนี้ครับ หากเป็นภาพถ่าย แนะนำให้ใช้เป็น jpg ส่วนถ้าเป็นไฟล์โลโก้ หรือภาพที่มีจำนวนสีน้อย ๆ ลองดูเป็น gif
http://wbi.srru.ac.th/blog/?p=1

Blog + Online diary ! สื่อนอกกระแส-มาร์เก็ตติ้งสไตล์ใหม่

*บล็อก = มาร์เก็ตติ้งทูลใหม่
มากกว่า 1 แสนรายเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลยในสายตานักการตลาด นอกจากจะสะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว เช่น กิจกรรมการเขียนไดอารี่เคยเป็นเรื่องส่วนตัวได้กลายเป็นกิจกรรมสาธารณะที่ใครก็ได้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเพื่อนหรือคนรู้จักก็สามารถเข้ามาอ่านได้
แต่ก้าวต่อไปที่น่าจับตาก็คือ จะใช้ประโยชน์จากช่องทางใหม่ สื่อใหม่นี้ได้เช่นไร โดยเฉพาะในเรื่องของธุรกิจที่หลายคนเริ่มมองเป็นเครื่องมือทางการตลาดตัวใหม่ที่ทรงพลังไม่แพ้สื่อแบบเก่า
ในสหรัฐฯ ผู้เขียนบล็อกยอดนิยมหลายรายได้รับการมองไม่ต่างจากคอลัมนิสต์ดังๆ หรือนักข่าวที่สังกัดสื่อมวลชนแบบเดิมเช่น แมกกาซีน หนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือทีวี
ตัวอย่างเช่น บล็อกเกอร์ที่เขียนวิจารณ์หนังสือเป็นประจำจะได้รับหนังสือจากสำนักพิมพ์ต่างๆ ส่งให้รีวิว หรือเชิญมางานเปิดตัวหนังสือ บางรายที่เขียนแนะนำหนังก็ถูกค่ายหนังฮอลลีวู้ดเชิญมาร่วมงานรอบปฐมทัศน์ตามเมืองใหญ่ต่างๆ ด้วยซ้ำไป ซึ่งในวงการมาร์เก็ตติ้งอเมริกันกำลังสนใจประเด็นนี้มาก และเป็นการแนะนำสินค้าตรงลงไปยังกลุ่มเป้าหมายที่สนใจ หรือผู้มีอิทธิพลต่อความเห็นของสาธารณชนอย่างแท้จริง
ในเมืองไทย ถึงแม้ส่วนใหญ่จะเป็นเว็บไดอารี่ที่เขียนเล่าเรื่องราวส่วนตัว แต่อิทธิพลที่ส่งผลถึงธุรกิจก็เริ่มเห็นได้ชัด เพราะความเห็นส่วนตัวที่เคยบอกเล่าคุยกันเฉพาะเพื่อนฝูงใกล้ชิด ได้กลายมาเป็นความเห็นสาธารณะที่คนทั้งโลกที่ใช้ภาษาไทยเปิดดูได้ไม่ยาก เช่น หนังเรื่องใหม่ที่เพิ่งเข้าโรงชอบไม่ชอบเพราะอะไร ทำไมไม่ชอบเพลงเบิร์ดชุดใหม่ หรือแม้กระทั่ง ไม่ชอบชาเขียวรสใหม่ คิดยังไงกับแชมพูที่ทำให้ผมร่วง ยี่ห้ออะไร ทำไมหนังสือพิมพ์ไม่ยอมบอกยี่ห้อ โปรโมชั่นมือถือใหม่ทำไมมันห่วยแบบนี้
พูดง่ายๆ ก็คือ ผลกระทบที่ธุรกิจไทยจะต้องเจอในอนาคตอันใกล้นี้ก็คือ ความเห็นจากคนธรรมดาทั่วไปที่เขียนบล็อกได้เริ่มกลายมาเป็น “ความเห็นชี้นำ” ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ไม่ต่างอะไรจากสื่อมวลชน หรืออาจจะแรงกว่าเสียด้วยซ้ำ
เท่าที่ผ่านมาวงการหนังที่จัดว่าไวต่อสื่อใหม่ๆ อย่างอินเทอร์เน็ตนี้ มากกว่าวงการอื่น ได้เริ่มเข้าไปโฆษณาและมีกิจกรรมมาร์เก็ตติ้งกับผู้ให้บริการบล็อกบางรายในบ้านเรากันบ้างแล้ว
ดูเหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ Blog หรือ ไดอารี่ออนไลน์ ทำให้รอยแบ่งระหว่าง “สื่อ” กับ “ผู้อ่าน” เริ่มเลือนรางลง ในยุคของบล็อกครองเน็ตแบบนี้ ดูจะแยกยากเหลือเกินว่าอะไรคือ “คอลัมนิสต์” ในหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสาร และอะไรคือ บล็อก
ในทางกลับกัน เว็บบล็อกและไดอารี่ก็อาจเป็นแหล่งข้อมูลการตลาดชั้นดีสำหรับวงการมาร์เก็ตติ้งที่อยากจะรู้ข้อมูลคร่าวๆ หรือหัวข้อแปลกๆ ที่งานวิจัยตลาดทั่วไปไม่มีให้ หรือเสียค่าใช้จ่ายสูงเกินไป เช่น เด็กสาวม.ปลายต่างจังหวัดชอบใช้ปากกายี่ห้อไหน แนะนำขนมอะไรให้เพื่อน ซื้อช็อกโกแลตอะไรเป็นของขวัญให้เพื่อน สาวออฟฟิศเมาท์ให้เพื่อนฟังว่าไปเอ็มเคแล้วกินอะไร ไม่กินอะไร หนุ่มวัยทำงานกินเหล้ากับเพื่อนที่ผับวันก่อนสั่งเหล้ายี่ห้ออะไร หรือดื่มเบียร์อะไร ฯลฯ
แน่นอนว่า ข้อมูลพวกนี้ไม่ใช่งานวิจัยตลาดที่มีคุณภาพ หรือถูกหลักวิชาการ แต่ในแง่ความไวในการมองมาร์เก็ตเทรนด์แล้ว คงบอกได้ว่า ถ้าใครเจอเทรนด์ใหม่ๆ จากการอ่านเว็บบล็อกแล้วละก็ ขอโดนๆ สักรายก็น่าจะคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม เพราะหาไม่ง่ายที่ใครจะเล่าความเห็นในชีวิตตัวเองได้มากมายเหมือนกับในเว็บบล็อกหรือไดอารี่ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสื่อใหม่จริงๆ
“กระแสบล็อกจะเริ่มมีใช้ในทางธุรกิจมากขึ้น ใช้เป็นมาร์เก็ตติ้งทูลในการทำตลาดผลิตภัณฑ์ และเป็นสื่อที่ใช้ในการมาร์เก็ตติ้ง” กติกา สายเสนีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายไอทีของบริษัทโฮสทิฟาย (www.hostify.com) นอกจากนี้ ยังที่รู้จักในวงการอินเทอร์เน็ตและไดอารี่ออนไลน์ในไทยยุคแรกๆ ว่า “เก่ง” (www.keng.com) กล่าวออกความเห็นถึงอนาคตของบล็อกในไทยและต่างแดน ที่ปัจจุบันพลิกโฉมออกสู่วงกว้างมากกว่าในยุคแรกมาก
“ตัวบล็อกจะมีความเฟรนด์ลี่มากกว่าทั้งผู้เขียนและผู้อ่าน ซึ่งเมืองไทยส่วนใหญ่ยังไม่เห็นตรงจุดนี้ มีใช้ในเชิงส่วนตัวเหมือนไดอารี่มากกว่า” กติกากล่าว พร้อมชี้ประเด็นสำคัญต่อว่า ในเมืองนอกมีการใช้เพื่อธุรกิจมากกว่าในไทย จนภาคธุรกิจทางโน้นเริ่มสนใจกันอย่างจริงจัง
“แบรนด์ดังๆ อย่างเช่น Vespa มีการจ้างพนักงานฟูลไทม์ 2 คนมาคอยอัพเดตข้อมูลต่างๆ ลงเว็บ (www.vespaway.com) สำหรับกลุ่มคนที่สนใจ เหมือนเป็นการสร้าง brand awareness ขึ้นตลอดเวลา”
นอกจากนี้ กติกายังได้ยกตัวอย่างที่สร้างความฮือฮาจนเว็บไซต์มาร์เก็ตติ้งใหญ่ๆ ในอเมริกาได้พูดถึงเคสนี้กันอย่างมากมาย เช่น กรณีของรถเช่า Budget ในอเมริกาที่ออกแคมเปญไล่ล่าหาขุมทรัพย์ทั่วประเทศ
แทนที่จะเล่นผ่านสื่อทั่วไป ทางรถเช่าบัดเจ็ตกลับใช้วิธีเล่นเกมและประชาสัมพันธ์ผ่านบล็อกไซต์ www.upyourbudget.com แล้วนำสติกเกอร์ไปแปะซ่อนไว้ตามเมืองต่างๆ 16 เมืองทั่วสหรัฐฯ โดยจัดสัปดาห์ละ 1 เมือง จากนั้นก็ลงคำใบ้เป็นคลิปวิดีโอ ถ่ายตามสถานที่ต่างๆ ของเมืองพอเป็นแนวทางหาสติกเกอร์ให้เจอ ใครที่พบจะได้รางวัลใหญ่โดยแจกสัปดาห์ละ 1 หมื่นเหรียญ โดยผู้ชนะจะต้องเขียนบทความอธิบายมาลงบล็อกนี้ด้วยว่า หาเจอได้ยังไง ตีความคำใบ้ออกอย่างไร
กติกาได้แนะต่อว่า การใช้บล็อกเพื่องานพีอาร์เชิงธุรกิจยังมีประโยชน์มากกว่านั้น เพราะจากที่เคยอ่านผลการศึกษาในสหรัฐฯ มาพบว่า มีผู้อ่านเชื่อถือในข่าวสารที่เสนอโดยบรรดาบล็อกเกอร์ทั้งหลาย มากกว่าข่าวที่เสนอจากสื่อมวลชนทั่วไปเสียอีก
ความเห็นนี้สอดคล้องกับ ทีปกร วุฒิพิทยามงคล เว็บมาสเตอร์ บล็อกไซต์ Exteen.com ที่มองว่า ในกรณีของบริษัทใหญ่ๆ หลายแห่ง เช่น ไมโครซอฟท์ หรือกูเกิ้ล ก็มีการใช้ blog เป็นเครื่องมือในการกระจายข่าวประชาสัมพันธ์ กันแล้ว และสร้างความเชื่อใจให้กับยูสเซอร์ทั่วไปได้มากกว่า โดยมีรูปแบบที่เข้าใจง่ายและ feedback กลับได้ทันที
คงต้องติดตามต่อไปว่า นิวมีเดียล่าสุดอย่างเว็บบล็อกนี้จะส่งผลสะเทือนต่อวงการโฆษณาและมาร์เก็ตติ้งเมืองไทยมากแค่ไหน และใครจะไวในเรื่องมาร์เก็ตเทร็นด์กว่ากัน

http://thaiblogger.org/2006/07/06/blog-and-online-diary.html