วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2550

Blog + Online diary ! สื่อนอกกระแส-มาร์เก็ตติ้งสไตล์ใหม่

*บล็อก = มาร์เก็ตติ้งทูลใหม่
มากกว่า 1 แสนรายเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลยในสายตานักการตลาด นอกจากจะสะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว เช่น กิจกรรมการเขียนไดอารี่เคยเป็นเรื่องส่วนตัวได้กลายเป็นกิจกรรมสาธารณะที่ใครก็ได้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเพื่อนหรือคนรู้จักก็สามารถเข้ามาอ่านได้
แต่ก้าวต่อไปที่น่าจับตาก็คือ จะใช้ประโยชน์จากช่องทางใหม่ สื่อใหม่นี้ได้เช่นไร โดยเฉพาะในเรื่องของธุรกิจที่หลายคนเริ่มมองเป็นเครื่องมือทางการตลาดตัวใหม่ที่ทรงพลังไม่แพ้สื่อแบบเก่า
ในสหรัฐฯ ผู้เขียนบล็อกยอดนิยมหลายรายได้รับการมองไม่ต่างจากคอลัมนิสต์ดังๆ หรือนักข่าวที่สังกัดสื่อมวลชนแบบเดิมเช่น แมกกาซีน หนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือทีวี
ตัวอย่างเช่น บล็อกเกอร์ที่เขียนวิจารณ์หนังสือเป็นประจำจะได้รับหนังสือจากสำนักพิมพ์ต่างๆ ส่งให้รีวิว หรือเชิญมางานเปิดตัวหนังสือ บางรายที่เขียนแนะนำหนังก็ถูกค่ายหนังฮอลลีวู้ดเชิญมาร่วมงานรอบปฐมทัศน์ตามเมืองใหญ่ต่างๆ ด้วยซ้ำไป ซึ่งในวงการมาร์เก็ตติ้งอเมริกันกำลังสนใจประเด็นนี้มาก และเป็นการแนะนำสินค้าตรงลงไปยังกลุ่มเป้าหมายที่สนใจ หรือผู้มีอิทธิพลต่อความเห็นของสาธารณชนอย่างแท้จริง
ในเมืองไทย ถึงแม้ส่วนใหญ่จะเป็นเว็บไดอารี่ที่เขียนเล่าเรื่องราวส่วนตัว แต่อิทธิพลที่ส่งผลถึงธุรกิจก็เริ่มเห็นได้ชัด เพราะความเห็นส่วนตัวที่เคยบอกเล่าคุยกันเฉพาะเพื่อนฝูงใกล้ชิด ได้กลายมาเป็นความเห็นสาธารณะที่คนทั้งโลกที่ใช้ภาษาไทยเปิดดูได้ไม่ยาก เช่น หนังเรื่องใหม่ที่เพิ่งเข้าโรงชอบไม่ชอบเพราะอะไร ทำไมไม่ชอบเพลงเบิร์ดชุดใหม่ หรือแม้กระทั่ง ไม่ชอบชาเขียวรสใหม่ คิดยังไงกับแชมพูที่ทำให้ผมร่วง ยี่ห้ออะไร ทำไมหนังสือพิมพ์ไม่ยอมบอกยี่ห้อ โปรโมชั่นมือถือใหม่ทำไมมันห่วยแบบนี้
พูดง่ายๆ ก็คือ ผลกระทบที่ธุรกิจไทยจะต้องเจอในอนาคตอันใกล้นี้ก็คือ ความเห็นจากคนธรรมดาทั่วไปที่เขียนบล็อกได้เริ่มกลายมาเป็น “ความเห็นชี้นำ” ที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ไม่ต่างอะไรจากสื่อมวลชน หรืออาจจะแรงกว่าเสียด้วยซ้ำ
เท่าที่ผ่านมาวงการหนังที่จัดว่าไวต่อสื่อใหม่ๆ อย่างอินเทอร์เน็ตนี้ มากกว่าวงการอื่น ได้เริ่มเข้าไปโฆษณาและมีกิจกรรมมาร์เก็ตติ้งกับผู้ให้บริการบล็อกบางรายในบ้านเรากันบ้างแล้ว
ดูเหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ Blog หรือ ไดอารี่ออนไลน์ ทำให้รอยแบ่งระหว่าง “สื่อ” กับ “ผู้อ่าน” เริ่มเลือนรางลง ในยุคของบล็อกครองเน็ตแบบนี้ ดูจะแยกยากเหลือเกินว่าอะไรคือ “คอลัมนิสต์” ในหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสาร และอะไรคือ บล็อก
ในทางกลับกัน เว็บบล็อกและไดอารี่ก็อาจเป็นแหล่งข้อมูลการตลาดชั้นดีสำหรับวงการมาร์เก็ตติ้งที่อยากจะรู้ข้อมูลคร่าวๆ หรือหัวข้อแปลกๆ ที่งานวิจัยตลาดทั่วไปไม่มีให้ หรือเสียค่าใช้จ่ายสูงเกินไป เช่น เด็กสาวม.ปลายต่างจังหวัดชอบใช้ปากกายี่ห้อไหน แนะนำขนมอะไรให้เพื่อน ซื้อช็อกโกแลตอะไรเป็นของขวัญให้เพื่อน สาวออฟฟิศเมาท์ให้เพื่อนฟังว่าไปเอ็มเคแล้วกินอะไร ไม่กินอะไร หนุ่มวัยทำงานกินเหล้ากับเพื่อนที่ผับวันก่อนสั่งเหล้ายี่ห้ออะไร หรือดื่มเบียร์อะไร ฯลฯ
แน่นอนว่า ข้อมูลพวกนี้ไม่ใช่งานวิจัยตลาดที่มีคุณภาพ หรือถูกหลักวิชาการ แต่ในแง่ความไวในการมองมาร์เก็ตเทรนด์แล้ว คงบอกได้ว่า ถ้าใครเจอเทรนด์ใหม่ๆ จากการอ่านเว็บบล็อกแล้วละก็ ขอโดนๆ สักรายก็น่าจะคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม เพราะหาไม่ง่ายที่ใครจะเล่าความเห็นในชีวิตตัวเองได้มากมายเหมือนกับในเว็บบล็อกหรือไดอารี่ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสื่อใหม่จริงๆ
“กระแสบล็อกจะเริ่มมีใช้ในทางธุรกิจมากขึ้น ใช้เป็นมาร์เก็ตติ้งทูลในการทำตลาดผลิตภัณฑ์ และเป็นสื่อที่ใช้ในการมาร์เก็ตติ้ง” กติกา สายเสนีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายไอทีของบริษัทโฮสทิฟาย (www.hostify.com) นอกจากนี้ ยังที่รู้จักในวงการอินเทอร์เน็ตและไดอารี่ออนไลน์ในไทยยุคแรกๆ ว่า “เก่ง” (www.keng.com) กล่าวออกความเห็นถึงอนาคตของบล็อกในไทยและต่างแดน ที่ปัจจุบันพลิกโฉมออกสู่วงกว้างมากกว่าในยุคแรกมาก
“ตัวบล็อกจะมีความเฟรนด์ลี่มากกว่าทั้งผู้เขียนและผู้อ่าน ซึ่งเมืองไทยส่วนใหญ่ยังไม่เห็นตรงจุดนี้ มีใช้ในเชิงส่วนตัวเหมือนไดอารี่มากกว่า” กติกากล่าว พร้อมชี้ประเด็นสำคัญต่อว่า ในเมืองนอกมีการใช้เพื่อธุรกิจมากกว่าในไทย จนภาคธุรกิจทางโน้นเริ่มสนใจกันอย่างจริงจัง
“แบรนด์ดังๆ อย่างเช่น Vespa มีการจ้างพนักงานฟูลไทม์ 2 คนมาคอยอัพเดตข้อมูลต่างๆ ลงเว็บ (www.vespaway.com) สำหรับกลุ่มคนที่สนใจ เหมือนเป็นการสร้าง brand awareness ขึ้นตลอดเวลา”
นอกจากนี้ กติกายังได้ยกตัวอย่างที่สร้างความฮือฮาจนเว็บไซต์มาร์เก็ตติ้งใหญ่ๆ ในอเมริกาได้พูดถึงเคสนี้กันอย่างมากมาย เช่น กรณีของรถเช่า Budget ในอเมริกาที่ออกแคมเปญไล่ล่าหาขุมทรัพย์ทั่วประเทศ
แทนที่จะเล่นผ่านสื่อทั่วไป ทางรถเช่าบัดเจ็ตกลับใช้วิธีเล่นเกมและประชาสัมพันธ์ผ่านบล็อกไซต์ www.upyourbudget.com แล้วนำสติกเกอร์ไปแปะซ่อนไว้ตามเมืองต่างๆ 16 เมืองทั่วสหรัฐฯ โดยจัดสัปดาห์ละ 1 เมือง จากนั้นก็ลงคำใบ้เป็นคลิปวิดีโอ ถ่ายตามสถานที่ต่างๆ ของเมืองพอเป็นแนวทางหาสติกเกอร์ให้เจอ ใครที่พบจะได้รางวัลใหญ่โดยแจกสัปดาห์ละ 1 หมื่นเหรียญ โดยผู้ชนะจะต้องเขียนบทความอธิบายมาลงบล็อกนี้ด้วยว่า หาเจอได้ยังไง ตีความคำใบ้ออกอย่างไร
กติกาได้แนะต่อว่า การใช้บล็อกเพื่องานพีอาร์เชิงธุรกิจยังมีประโยชน์มากกว่านั้น เพราะจากที่เคยอ่านผลการศึกษาในสหรัฐฯ มาพบว่า มีผู้อ่านเชื่อถือในข่าวสารที่เสนอโดยบรรดาบล็อกเกอร์ทั้งหลาย มากกว่าข่าวที่เสนอจากสื่อมวลชนทั่วไปเสียอีก
ความเห็นนี้สอดคล้องกับ ทีปกร วุฒิพิทยามงคล เว็บมาสเตอร์ บล็อกไซต์ Exteen.com ที่มองว่า ในกรณีของบริษัทใหญ่ๆ หลายแห่ง เช่น ไมโครซอฟท์ หรือกูเกิ้ล ก็มีการใช้ blog เป็นเครื่องมือในการกระจายข่าวประชาสัมพันธ์ กันแล้ว และสร้างความเชื่อใจให้กับยูสเซอร์ทั่วไปได้มากกว่า โดยมีรูปแบบที่เข้าใจง่ายและ feedback กลับได้ทันที
คงต้องติดตามต่อไปว่า นิวมีเดียล่าสุดอย่างเว็บบล็อกนี้จะส่งผลสะเทือนต่อวงการโฆษณาและมาร์เก็ตติ้งเมืองไทยมากแค่ไหน และใครจะไวในเรื่องมาร์เก็ตเทร็นด์กว่ากัน

http://thaiblogger.org/2006/07/06/blog-and-online-diary.html

ไม่มีความคิดเห็น: